‘พิทช์งานให้ชนะ คือการรู้ว่าจะไม่เล่าอะไร’

คายตะขาบ 8 เคล็ดลับ ขายงานยังไงให้ผ่านตลอด โดยสโรจ เลาหศิริ และกรพล จันทวิมล ในงาน Mission To The Moon Forum 2024

Last updated on เม.ย. 28, 2024

Posted on เม.ย. 28, 2024

ขายงานไม่ผ่านซะที พิทช์ไอเดียยังไงให้โดนทั้งเจ้านาย และลูกค้านะ

‘การขายงาน’ หรือ พิทช์งาน เป็นทักษะที่คนทำงานทุกคนล้วนต้องเผชิญหน้าในสักวัน เพราะเราล้วนพบเจอการพิทช์งานอยู่ตลอด ตั้งแต่การนำเสนอในห้องประชุม ไปจนถึงการปิดดีลกับลูกค้า

ที่งาน “Mission To The Moon Forum 2024 : Work-Life Survival Guide คู่มือเอาชีวิตรอดสำหรับคนสู้งาน” คุณสโรจ เลาหศิริ ผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษากลยุทธ์ด้านการตลาด และคุณจักรพล จันทวิมล ผู้อำนวยการสำนักการตลาด บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) จึงชวนกันมาเจาะถึงกลเม็ด เคล็ดวิธีการโน้มน้าวใจในเซสชัน ‘ขายงานไม่ผ่านซะที พิทช์ไอเดียอย่างไรให้โดนทั้งเจ้านาย และลูกค้า’ เพื่อช่วยให้คนทำงานสามารถปิดการขายด้วยการโน้มน้าวใจ

1. จุดที่คนพิทช์งานมักพลาดบ่อย

การ Pitch หรือขายงานนั้น มันก็คือการใช้หลักการ Persuade someone to do something ในการพิช คือ โน้มน้าวให้เค้าตัดสินใจ

ทว่าสิ่งที่คนขายงานหลายคนพลาดคือ
👉 กลัวไม่ได้เล่า เพราะอยากเล่าไปหมด อยากให้คนฟังรู้ว่าเราทำการบ้านมาดี
👉 ข้อมูลเยอะเกินไป ไม่ได้ดูเลยว่าผู้ฟัง อยากฟังอะไรหรือมีพอยต์อะไร นั่นจึงทำให้เราพิทช์งานเฟล เพราะเราไม่ได้เรียนรู้ว่าเขาต้องการอะไร

🎯 ในมุมของคนฟัง 🎯
คนฟังพิทช์งานจะมาแบบหัวโล่ง ๆ อย่างเดียวไม่ได้ เพราะการเตรียมตัวก็สำคัญ ซึ่งการที่เราฟังคนอื่นพรีเซนต์นั้น เราก็ควรเตรียมตัวเรื่องการตัดสินใจมาด้วย


2. รู้ว่าจะไม่เล่าอะไร

สำคัญกว่าการเล่า คือรู้ว่าจะไม่เล่า ซึ่งคุณสโรจนั้นได้ยกตัวอย่างตอนที่เขาทำเอเจนซี่ แล้วคู่แข่งก่อนหน้า พิทช์งานกินเวลา จนทำให้เขาไม่มีเวลาพอที่จะพิทช์ นั่นทำให้คุณสโรจเรียนรู้ได้ว่า ‘จะไม่เล่าอะไร’ ด้วยการกลับไปโฟกัสที่ Emphaty, ปัญหาที่ลูกค้าต้องการ, ศึกษา และหยิบ Data มาเล่าว่า ถ้าไม่แก้ไขตอนนี้ จะมีปัญหาที่ใหญ่กว่าตามมา เพื่อให้ลูกค้าเล็งเห็นความสำคัญ

เวลาจะทำการตลาด ลูกค้าหลายรายมักจะโฟกัสที่ 3 จุด
👉 คนที่รักเรา
👉 คนที่เกลียดเรา
👉 และคนที่สวิงไปมา
ซึ่งแบรนด์มากมายมักจะแคร์คนที่เกลียดเกินไป มากกว่าคนรัก และกลุ่มที่กำลังสวิงไปมา


3. ถอด 4 โครงสร้างสูตรสำเร็จ พิทช์งานยังไงให้ผ่าน

👉 โครงสร้างที่ 1: ทักทาย

เมื่อเดินเข้าห้องพิทช์งาน ควรหาวิธีการสร้างความจดจำเพื่อให้ผู้ฟังจำได้ ไม่ว่าจะเริ่มตอนทักทาย หรือแนะนำตัว ไปจนถึงสร้างประสบการณ์ก็ตาม

👉 โครงสร้างที่ 2: ขยี้ปัญหา

ตีโจทย์ให้แตกว่า สิ่งที่ลูกค้าให้มานั้น เราจะทำยังไงเพื่อจะพาเขาดำดิ่งลงไปได้ จะทำแบบไหนให้เขารู้ว่า มันสามารถลามไปใหญ่กว่าเดิม เพื่อให้เขาเห็นว่าสิ่งนั้นมันหนักหนา

👉 โครงสร้างที่ 3: พาขึ้นสวรรค์

หลังจากที่พาผู้ฟังดำดิ่งถึงปัญหาแล้ว เราก็จะพาพวกเขาฟุ้งขึ้นสูงสุดด้วยไอเดีย เพื่อพาเขาไปเจอโซลูชันที่จะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้

👉 โครงสร้างที่ 4: สร้างความรู้สึกต้องเสียใจถ้าไม่เลือกเรา

‘ถ้าไม่ตัดสินใจตอนนี้ พี่จะเสียโอกาสเลยนะครับ’ หาโซลูชันที่ทำให้ลูกค้าเห็นว่า ต้องตัดสินใจทันที ไม่ว่าจะเป็นถ้าเราไม่ทำคู่แข่งทำแน่, ถ้าไม่เอาเดือนนี้ เดือนหน้าผู้กำกับไม่มีคิวแล้ว, ตอนนี้ฤกษ์ดีสำหรับจัดงานได้แค่ช่วงนี้ช่วงเดียว เป็นต้น ซึ่งความสำคัญคือต้องจบให้ได้แบบ Finish strong

นอกจากนั้นควรบาลานซ์น้ำหนักของสิ่งเหล่านี้ให้ดี เพราะถ้าน้อยไป เขาจะไม่ได้ยิน และถ้ามากไปผู้ฟังก็จะรู้สึกรำคาญได้


4. มือใหม่เตรียมตัวขายงานยังไง

จริง ๆ มันคือการซ้อมการเตรียมข้อมูล เพราะการซ้อมจะทำให้งานเราชำนาญขึ้น ซึ่งถ้าจะให้ดีควรซ้อมไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง และเอามาถามตัวเองว่ามั่นใจกี่เปอร์เซ็นต์ สมมติมั่นใจ 70% ก็จงหาให้ได้ว่าอะไรคือ 30% ที่ทำให้เราไม่มั่นใจ และจะทำยังไงให้ความมั่นใจว่าจะได้คือ 100% เพราะถ้าตัวเราเองยังไม่มั่นใจเต็มร้อย เราจะแพ้แน่นอน


5. คนที่ต้องทำหน้าที่ตัดสินใจ ต้องดูอะไรบ้าง

ในหมวกของลีดเดอร์หรือคนที่ตัดสินใจ เราต้องดูก่อนว่าการตัดสินใจนั้นจะกระทบกับอะไร และ 3i ที่ควรนึกถึงเสมอคือ

👉 1) I want to win

เราต้องการชนะ แต่ชัยชนะในมุมเราคืออะไร แบบไหนก็ต้องดูกัน ไม่ว่าจะเป็น เราเป็นยังไง, คู่แข่งเป็นแบบไหน และลูกค้าเป็นอย่างไร
โดยจุดที่เราเก่งและดีกว่าคู่แข่ง ซึ่งเป็นจุดที่ลูกค้าต้องการ จะเป็นจุดที่ทำให้เราสามารถเอาชนะได้

👉 2) I have

ความต้องการมีไม่จำกัดก็จริง แต่ต้องหันมาดูดี ๆ ว่าเรามีอะไร เพราะเราทุกคนล้วนมีทรัพยากรที่จำกัด ฉะนั้นแล้ว จงดูว่าตัวเองมีอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเงิน, บัดเจ็ต ภาพลักษณ์ต่าง ๆ ไปจนถึงคนที่มีอำนาจคุมโปรเจกต์นี้

👉 3) I’m listening

📌 C culture สิ่งที่เขาเสนอมา จะเข้ากับคัลเจอร์เราหรือเปล่า
📌 D differentiation อะไรที่ทำให้เราแตกต่างจากคู่แข่ง
📌 E empathize การเห็นอกเห็นใจ เข้าใจลูกค้า
📌 F fact ความเป็นจริงอันนี้น่ากลัว เพราะข้อมูลที่นำมา แม้จะเตรียมตัวอย่างดี แต่ต้องดูว่า fact เหล่านี้เข้ากับเรามั้ย


6. สำหรับคนที่เป็นจูเนียร์ จะมีวิธีสร้างความเชื่อใจยังไงบ้าง

คนที่เป็นจูเนียร์ เอาเวลามาสร้าง Trust สร้างเครดิต ทำการบ้านเยอะ ๆ และเตรียมข้อมูลให้มันถูกต้อง ซึ่งเราต้องเข้าใจถึงคนฟังกับเจ้านายของเราว่า เพนพอยต์คืออะไร

เวลาเล่า ต้องรู้จักไล่เรียงระบบความคิดให้มันเป็นตรรกะ เพราะมี A จึงทำให้ B เกิดขึ้น ไม่ใช่อยู่ ๆ ก็กระโดดไป C เลย ซึ่งถ้าเรามีระบบตรรกะที่ดี จะช่วยเรื่องการพิทช์งานได้

นอกจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นจูเนียร์หรือระดับไหน ก็ควรมีพื้นที่ให้ทดลอง เพราะการแสดงให้เห็นว่าเรา Small Win หรือ Proof อะไรบางอย่าง จะทำให้องค์กรเชื่อใจเรามากขึ้น


7. ภาษากายนั้นสำคัญ

ผลวิจัยเผยออกมาแล้วว่า ภาษากายนั้นมีผลมากกว่าเนื้อหาที่เราสื่อสารออกไป ซึ่งถ้าเราเตรียมตัวมาดี คนก็จะสามารถจำเราได้จากภาษากาย ซึ่งเราสามารถนำเทคนิคนี้ไปใช้ด้วยหลักการ ‘ตัว ท่า ตา ยิ้ม ตาม’

👉 ตัว: คือนั่งตัวตรง พยายามทำหลังแข็ง ทำตัวให้ใหญ่เอาไว้
👉 ท่าทาง: มือเราเอาไว้ตรงไหน ต้องทำอะไรให้คนรู้สึกว่าเราเปิดเผย
👉 ตา: ตาต้องมองตาของผู้ฟัง และเราในฐานะคนฟัง ก็ต้องรู้จักมองตาคนที่เรานำเสนอ
👉 ยิ้ม: รอยยิ้มสำคัญ
👉 ตาม: ทำตัวเองเป็นกระจก จงเป็นมิลเลอร์ที่ออกท่าทางคล้าย ๆ กับคนฟัง เพราะสิ่งนี้มันจะทำให้คนฟังรู้สึกว่าเขาคอนเนกต์กับเรา


8. Do and don't ที่คนพิทช์งานไม่ควรทำ

👉 จงทำสไลด์เป็นสิ่งจุดสุดท้าย เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าสไลด์คือเรื่องที่จะเล่าหรือคอนเทนต์ และถ้าจะทำ ควรจดเรื่องที่จะเล่าลงไปในโน้ตก่อน
👉 สำคัญว่าเราจะไม่เล่าอะไร เพราะศิลปะของการพิทช์ก็คือเราจะไม่เล่าหมด เพราะคนฟังจะจำได้ไม่กี่อย่าง
👉 สำคัญมาก เจาะจงแต่ไม่ต้องลงรายละเอียด เพราะการ Specific แต่ไม่ลง Detail จะทำให้คนฟังรู้สึกลอยจากจินตนาการ
👉 มั่นใจในทุกคำที่พูดออกไป
👉 จงทำให้เขาจำเราได้หลังเดินออกจาหห้องไปก็พอ


และท้ายที่สุด จงอย่าลืมว่าทุก ๆ การพิทชิ่ง มีโอกาสอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งสำหรับคนตัดสินใจ ควรรู้ไว้ว่าทุกการตัดสินใจของมีผลกระทบกับทุกอย่าง ดังนั้นแล้วเราควรตัดสินใจภายใต้หมวกที่เราใส่ ตัดสินใจในนามของตำแหน่ง และองค์กร ไม่ใช่ความชอบส่วนตัว


เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์

trending trending sports recipe

Share on

Tags