‘พูดไม่ผิด แต่ทำไมคนเข้าใจเราผิด’

Last updated on ธ.ค. 19, 2023

Posted on ม.ค. 28, 2022

ถึงแม้เราจะใช้ “วัจนภาษา” ในการสื่อสารในชีวิตประจำวันเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียน

แต่สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้ “วัจนภาษา” เลยก็คือ “อวัจนภาษา” ซึ่งประกอบไปด้วย น้ำเสียง ท่าทาง สายตา กลิ่น ระยะห่าง สัมผัส หรืออากัปกิริยาต่างๆ 

ซึ่งมนุษย์เราไม่สามารถพูดหรือเขียนได้ตั้งแต่เกิด แต่เราแสดงออกด้วยท่าทางต่างๆ ออกมาแทนในเวลาที่ต้องการสื่อสาร เช่น การร้องไห้เมื่อหิว และเมื่อเราโตขึ้นมาจนสามารถสื่อสารได้ทั้งสองทางแล้ว เราก็ยังคงใช้ภาษากายเป็นหลักอยู่ดี ซึ่งข้อมูลจากการวิจัยพบว่า มนุษย์เราใช้ภาษากายมากกว่า 70-93% ในการสื่อสารแต่ละครั้ง

และภาษากาย คือ พฤติกรรมต่างๆ ที่เราแสดงออกโดยอัตโนมัติ และส่วนใหญ่ผู้สื่อสารมักแสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว สังเกตได้จากเวลาที่คนเรารู้สึกประหม่าเมื่ออยู่ต่อหน้าคนเยอะๆ เราก็จะเผลอจับมือจับผมตลอดเวลา อย่างไรก็ตามถึงแม้เราจะไม่ค่อยรู้ตัวนัก แต่ภาษากายก็เป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ นั่นคือสาเหตุที่เราเห็นผู้คนที่อยากมีบุคลิกภาพที่ดีไปเข้าคอร์สสอนบุคลิกภาพ หรือถ้าคุณหมั่นลองสังเกตพฤติกรรมของตัวเอง ก็สามารถควบคุมและปรับบุคลิกได้เช่นกัน 

สิ่งที่ต้องระวัง 

ถึงแม้หลายๆ คนจะเชื่อว่าคนเราหลอกกันด้วยคำพูดได้ แต่หลอกด้วยภาษากายไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือ “การตีความภาษากาย” เพราะ วัฒนธรรม และบริบทที่ต่างกันมีผลต่อการตีความภาษากายที่ต่างกันออกไป เช่น การผงกหัวของคนทั่วไป คือ การเห็นด้วย หรือ การตกลง แต่ที่อินเดีย การผงกหัวหมายถึง การปฏิเสธ ส่วนการไขว่ห้าง หรือ ไขว้ขา สำหรับคนเอเชียอาจจะดูไม่สุภาพ แต่สำหรับบางคนโดยเฉพาะคนสมัยใหม่ อาจจะหมายถึงท่านั่งที่รู้สึกสบายที่สุดก็เป็นได้ 

และบางครั้งการที่เราตีความภาษากายผิดพลาดอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ได้ หากเราคิดว่าสิ่งที่อีกฝ่ายสื่อสารออกมาผ่านภาษากายแล้วทำให้เราไม่แน่ใจในความหมาย เราควรจะพูดคุยกับอีกฝ่ายเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน เพราะว่าบางครั้ง พฤติกรรมที่เขาแสดงออกมาเขาอาจไม่รู้ตัว แต่เพียงทำไปโดยอัตโนมัติ 

ดังนั้นเพื่อการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในฐานะผู้ส่งสารก็ควรระมัดระวังทั้ง ‘วัจนภาษา’ และ ‘อวัจนภาษา’ ไปพร้อมๆ กัน ในขณะเดียวกัน ถ้าเราอยู่ในฐานะผู้รับสารก็อย่าลืมว่า ภาษากายไม่ใช่สิ่งที่มีพลังมากที่สุดในทุกการสื่อสาร และการตีความที่เรารู้สึกไม่สบายใจและไม่มั่นใจ ก็ควรเอ่ยปากถามอีกฝ่ายทันที เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นได้


เนื้อหาบางส่วนจากรายการพอดแคสต์ Rise & Shine 109 Body Language จิตวิทยาของภาษากายกับเรื่องเข้าใจผิด โดย อาจารย์ภูมิ ถิรพุทธิ์ ปิติฉัตร

Rise & Shine 109 Body Language จิตวิทยาของภาษากายกับเรื่องเข้าใจผิด
มีคำพูดที่ว่า ในการสื่อสารสิ่งที่ไม่ได้พูดออกมาอาจจะมีความสำคัญมากกว่าสิ่งที่พูด ภาษากายคือสิ่งที่ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่เราได้ทำในการสื่อสาร ทั้งที่รู้ตัว หรือ ไม่รู้ตัวก็ตาม วันนี้จะมาคุยถึงมุมมองจิต

เรื่อง: แพรว – ณัฐธยาน์ รุ่งรุจิไพศาล นักเขียนตัวเปี๊ยกหัวโต ผู้รักสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ วิ่งไล่ผีเสื้อในทุ่งลาเวนเดอร์
trending trending sports recipe

Share on

Tags